top of page
ค้นหา

รู้จัก Coding พื้นฐาน เริ่มต้นจากนิทานที่อ่านสนุก

รูปภาพนักเขียน: KIDBUAK PUBLISHINGKIDBUAK PUBLISHING

เวทีพูดคุยหลากหลายมุมมองจากบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและสื่อเทคโนโลยี ในหัวข้อ “สอนลูกให้รู้จักโค้ดดิ้ง Coding for Our Kids” พร้อม เปิดตัวนิทานชุด Coding โดยสำนักพิมพ์คิดบวก ในเครือบริษัท เพอลังอิ พับลิชชิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด วันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 ณ เวทีกลาง EXHIBITION HALL 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์


ดร.ขัตติยดา ไชยโย บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์คิดบวก กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และรับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการในครั้งนี้ โดยมีการชวนให้ผู้เข้าร่วมงานลองเล่นเกมสนุกๆ คั่นแต่ละช่วงรายการ เช่น ร้องเพลง ก้าบ ก้าบ ก้าบ เป็ดอาบน้ำในคลอง โดยให้เปลี่ยนเนื้อร้องไปตามรูปภาพที่เปลี่ยนไป เพื่อจำลองการเขียนโปรแกรมอย่างง่ายในการสั่งคอมพิวเตอร์ เรื่อง Pattern recognition หรือกิจกรรม ปรบมือเป็นชุดแล้ววนซ้ำ เพื่อจำลองเรื่อง Loops หรือการจำลอง Abstraction ด้วยการวาดรูปแทนอวัยวะส่วนต่างๆ เช่น มือ หัวเข่า ไหล่



ในส่วนของเนื้อหาแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ


ช่วงที่ 1 ประโยชน์ที่เด็กได้รับจากการเรียนรู้โค้ดดิ้ง

เป็นการพูดคุยร่วมกันระหว่าง ผศ.จิราภรณ์ ยกอินทร์ และอาจารย์ฉัตรทราวดี บุญถนอม ทั้งสองท่านเป็นผู้รับผิดชอบหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยทั้งสองท่านมีความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่เด็กๆ จะได้รับจากการเรียนรู้เรื่องโค้ดดิ้ง คือ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการพัฒนาอาชีพในอนาคต ทักษะการสื่อสาร และการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยี

ผศ.จิราภรณ์ ยกอินทร์ พูดถึงประโยชน์ของโค้ดดิ้งสำหรับเด็กปฐมวัยว่า โค้ดดิ้งจะช่วยให้เด็กแก้ปัญหาใหญ่ๆ ได้ ด้วยการแตกปัญหาใหญ่ออกเป็นปัญหาย่อยๆ สามารถเข้าใจลำดับความสำคัญของปัญหาต่างๆ


อีกทั้งการเรียนรู้โคดดิ้งยังฝึกความอดทน ความพยายามให้กับเด็ก เพราะภาษาคอมพิวเตอร์ไม่ใช่ภาษาที่ใช้ทั่วไป เด็กๆ จะต้องทำความเข้าใจและทดลองซ้ำ อาจจะเจอความผิดพลาด ล้มเหลว ซึ่งต้องใช้เวลาและความจดจ่อในการเรียนรู้ ครูหรือผู้ปกครองต้องมองหาจุดเล็กๆ น้อยๆ ที่สำเร็จของพวกเขาเพื่อสร้างกำลังใจให้กับเด็กๆ และเมื่อเด็กๆ เข้าใจโค้ดดิ้งดีพอ จะทำให้พวกเขารู้เท่าทันสื่อดิจิทัลไปในตัว สามารถเข้าถึงสื่ออย่างปลอดภัย รู้วิธีรับมือกับไซเบอร์บูลลี่ เกิดจริยธรรมความรับผิดชอบต่อสังคมในโลกออนไลน์ นอกจากนี้เมื่อต้องลงมือเขียนโปรแกรมในระดับชั้นที่สูงขึ้น จะช่วยให้เด็กๆ พัฒนาการสื่อสารได้ดี เพราะนอกจากจะต้องสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้แล้ว ก็ยังต้องสื่อสารกับผู้อื่นในการทำงานเป็นทีมเพื่อพัฒนาโปรแกรมร่วมกัน


อาจารย์ฉัตรทราวดี บุญถนอม เสริมว่า โค้ดดิ้งจะช่วยให้เด็กๆ รู้วิธีค้นหารูปแบบในปัญหาเพื่อให้จัดการง่ายขึ้น และสามารถออกแบบชุดคำสั่งได้ ซึ่งทักษะต่างๆ เหล่านี้ก็คือ การคิดเชิงคำนวณ ที่เป็นพื้นฐานสู่การโค้ดดิ้งนั่นเอง นอกจากนี้ โค้ดดิ้งยังช่วยให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญมากในยุคแห่งแอปพลิเคชัน พวกเขาจะสามารถออกแบบชุดคำสั่งที่แตกต่างจากผู้อื่น สามารถหาวิธีแก้ไข และสร้างนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมาได้ด้วยตนเอง และสามารถต่อยอดทักษะนี้สู่การสร้างอาชีพในอนาคต ในการเป็นโปรแกรมเมอร์ พัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ


ช่วงที่ 2 แหล่งเรียนรู้โค้ดดิ้ง

ผศ.กรุณา แย้มพราย รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า สมัยนี้แหล่งเรียนรู้โค้ดดิ้งมีทั้งในหลักสูตรการศึกษา และเว็บไซต์ต่างๆ ส่วนในเด็กเล็กๆ นั้น นิทานเป็นอีกหนึ่งแหล่งการเรียนรู้โค้ดดิ้งที่ดี โดยมีพ่อแม่เป็นตัวช่วยหลักในการกระตุ้นให้เด็กๆ เข้าถึงโค้ดดิ้งได้ง่ายขึ้น


สำหรับนักเรียน นักศึกษา สามารถเรียนรู้โค้ดดิ้งจากหลักสูตร และสาขาต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมศาสตร์ หรือในเว็บไซต์ต่างๆ เช่น เว็บไซต์ code.org, scratch หรือซอฟแวร์เขียนโปรแกรม Micro bit จาก Microsoft


ส่วนเด็กอนุบาล นิทานเป็นสื่อที่เหมาะสมในการทำความรู้จักโค้ดดิ้ง โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยถามคำถามที่กระตุ้นความคิดของเด็กๆ ขณะอ่านไปด้วยกัน ชวนคุยไปให้ถึงประเด็นของโค้ดดิ้ง เช่น ช่วยกันหารูปแบบความเหมือน หรือหาส่วนประกอบต่างๆ แม้ว่าจะต้องอ่านนิทานเรื่องเดิมซ้ำๆ แต่การชวนคิดต่อจากเนื้อเรื่องก็จะทำให้นิทานเล่มนั้นสนุกมากขึ้นได้ เป็นพื้นฐานที่ดีให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องโค้ดดิ้งแบบไม่ยากเกินไป ทำให้เค้าสามารถนำไปเชื่อมโยงต่อได้เมื่อโตขึ้น



ช่วงที่ 3 รู้จักโค้ดดิ้งได้ง่ายๆ จากนิทาน

คุณเกวลิน ชุ่มช่างทอง บรรณาธิการและนักเขียน สำนักพิมพ์คิดบวก ได้แนะนำนิทานในชุดโค้ดดิ้งจากสำนักพิมพ์คิดบวก ทั้งหมด 9 เล่ม และแบบฝึกเสริมทักษะที่ต่อยอดสาระความรู้อีก 2 เล่ม


นิทานชุดแรก คือชุด I love CT ชุดนี้เป็นชุดตั้งต้น เพราะเรื่อง Computational Thinking (CT) เป็นเรื่องของการคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตและการเรียนวิชาอื่นๆ รวมถึงเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ Coding โดยนิทานอ่านสนุกได้แบบนิทานทั่วไป แต่เสริมด้วยสาระ CT ท้ายเล่มที่สอดคล้องกับเนื้อหา ซึ่งสามารถใช้วิธีเดียวกันนี้กับนิทานอื่นๆ ได้เช่นกัน เพราะนิทานทุกเรื่องจะมีจุดวิกฤติหรือปัญหาอยู่แล้ว นิทานที่สอนเรื่อง CT ก็คือการนำสาระ CT เข้าไปแก้ปัญหานั้นๆ ในเล่มนั่นเอง


นิทานชุดต่อมา คือชุด I Get Coding

เป็นชุดนิทานที่มีคาแรคเตอร์นำ คือเด็กชายโคดี้กับหุ่นยนต์โรบี้ เป็นโลกที่เด็กกับหุ่นยนต์ใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน หุ่นยนต์เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตประจำวันมากขึ้น ด้วยลักษณะเรื่องราวที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ อาจจะชวนให้นึกถึงเรื่องที่เน้นเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ แต่จริงๆ แล้ว หัวใจสำคัญของชุดนี้สื่อถึง ความแตกต่างระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์ โดยมีเนื้อหาเรื่อง Decomposition, Loops, และ Algorithm เป็นแกนหลักในการนำเสนอ


นิทานชุดที่สาม คือชุด I Know Coding

เป็นนิทานที่ตัวละครใช้สาระโค้ดดิ้งแก้ปัญหาบางอย่าง ที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับจิตใจและการกระทำแบบมนุษย์ ไม่ได้ใช้คำสั่งกับหุ่นยนต์ เน้นการสื่อสารกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ให้เด็กคิดเป็น คิดแบบคอมพิวเตอร์ คิดไม่ซับซ้อนสื่อสารชัดเจน สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันกับผู้คนที่เราต้องสื่อสารได้ โดยมีสาระ เรื่อง Sequence, Abstraction, Boolean Operators เป็นแกนหลักในการนำเสนอ


นอกจากนี้ยังมีแบบฝึกเสริมทักษะ Coding อีก 2 เล่ม คือเรื่อง สนุกโค้ดดิ้งกับหุ่นยนต์โรบี้ Roby Algorithm จากชุด I Get Coding ที่มีกิจกรรมในเล่มให้เด็กๆ ฝึกเดินไปตามทิศทางลูกศร ตามลำดับของอัลกอริทึม และสามารถสร้างอัลกอริทึมด้วยลูกศรได้เอง และอีกเล่มคือ ตะลุยเมืองนุงนัง Unplugged Coding จากชุด I Know Coding มีตัวละครและเรื่องราวจากนิทานขยายออกมาในรูปแบบของกิจกรรมให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะในนิทานเราจะไม่เน้นการเรียนรู้ระดับที่ปฏิบัติได้ แต่จะนำมาต่อยอดในเล่มนี้แทน


สุดท้ายแล้ว เรื่องยากทุกเรื่องบนโลกใบนี้สามารถเล่าผ่านนิทานให้เข้าใจง่ายได้ และเรื่องโค้ดดิ้งก็คือหนึ่งในนั้นที่เรานำมาเล่าผ่านนิทาน ชวนให้เด็กๆ รู้จักโค้ดดิ้งแบบไม่เคร่งเครียด ไม่ถึงกับต้องลงมือทำ หรือตัดสินถูกผิดให้จบในเล่ม เราเพียงแค่อยากเล่าเรื่องโค้ดดิ้งให้เด็กๆ ฟังอย่างสนุกสนานเท่านั้น




ดู 127 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page