top of page
ค้นหา

บรรยากาศงานเปิดตัวชุดนิทานกลมเกลียว

รูปภาพนักเขียน: KIDBUAK PUBLISHINGKIDBUAK PUBLISHING

อัปเดตเมื่อ 26 ม.ค. 2566



ผ่านพ้นไปแล้วกับงานเสวนาวงเล็กคุยเรื่องเด็กๆ ให้กลมเกลียวอย่างสร้างสรรค์ ในงานเปิดตัว “ชุดนิทานกลมเกลียว” นิทานที่เกี่ยวร้อยความสัมพันธ์ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดย สำนักพิมพ์คิดบวก บริษัท เพอลังอิ พับลิชชิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจัดขึ้น ในงานเทศกาลหนังสือ THE BIG BAD WOLF BOOK FESTIVAL วันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ IMPACT HALL 4 เวทีกิจกรรมกลาง





ภายในงานมีคุณพ่อคุณแม่ เด็กๆ และน้องๆ นักศึกษา สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังเสวนาและทำกิจกรรมในครั้งนี้


เริ่มต้นด้วยการแจกลายเซ็นจากอาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ เจ้าของผลงานภาพประกอบในนิทานชุดนี้ทั้ง 3 เล่ม คือ แมวอ้วนกับแมวผอม รักลูกใหญ่ของลูกไก่ตัวเล็ก และหมีกลมเกลียว



เปิดรายการก่อนเริ่มเสวนา ด้วยการเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง ในบรรยากาศสบายๆ เป็นกันเอง เรื่อง แมวอ้วนกับแมวผอม โดยอาจารย์ปรีดา


ต่อด้วยการเสวนา โดย อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์, คุณแม่ส้ม, คุณเกวลิน ชุ่มช่างทอง ที่มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนหลากมุมมองในหัวข้อ “กลมเกลียวในความต่าง: แนวทางการส่งเสริมความกลมเกลียวให้กับเด็กวัยอนุบาลบนพื้นฐานของเหตุผล” ดำเนินรายการโดย ดร.ขัตติยดา ไชยโย นักวิชาการด้านปฐมวัย




อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ นักวาดภาพประกอบและนักเล่านิทานขวัญใจเด็กๆ กล่าวว่า เด็กๆ สามารถเรียนรู้เรื่องความกลมเกลียวผ่านนิทานและเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวได้



“ครูใช้นิทานสอนเด็กอนุบาลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ไม่ว่านิทานเรื่องใดก็ตาม จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผู้อื่นผ่านตัวละคร เมื่อเด็กๆ ฟังนิทานเค้าจะเอาตัวเค้าเองเข้าไปอยู่ในนั้น เราให้เด็กรู้จักความกลมเกลียวผ่านนิทานได้ เด็กจะได้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความเหมือนและความต่างกันอยู่ เด็กจะเข้าใจคนอื่นแล้วอาทร ใส่ใจคนอื่น และอยู่ร่วมกับเพื่อนได้ง่าย คือส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการด้านสังคมได้ดี ถ้าเราปลูกฝังให้พวกเขาเป็นแบบนี้ เมื่อโตมาเขาจะไม่โกรธแค้น และไม่รู้สึกแย่เมื่อเจอเพื่อนแบบต่างๆ เพราะเค้าเข้าใจ ซึ่งเรื่องกลมเกลียวก็ไปตอบโจทย์ตรงนั้น สิ่งที่ครูมักจะชวนเด็กๆ ทำในเรื่องความกลมเกลียว เป็นเรื่องง่ายๆ คือ ครูจะทำเป็นยกถุงผ้าใส่นิทานไม่ได้เพราะว่ามันหนัก และจะถามเด็กๆ ว่า ไหนใครจะช่วยครูยกบ้าง เมื่อเด็กๆ อาสาก็จะบอกว่ามาสองคนนะ มาช่วยกัน คำว่า ช่วยกัน แทนคำว่ากลมเกลียวสำหรับเด็กได้ สองคนมาช่วยกันคนละหิ้วยกมาให้ครู หลายอย่างต้องช่วยกันจึงจะสำเร็จ เป็นกิจกรรมที่ง่ายที่สุดที่เด็กจะนึกออกเรื่องสามัคคี กลมเกลียวและช่วยกัน”



คุณแม่ส้ม เจ้าของเพจ “ขอแม่เล่นด้วย” กล่าวว่า พ่อแม่คือต้นแบบที่ดีในการปลูกฝังความกลมเกลียวให้กับลูกได้ และกิจกรรมที่พี่น้องทำร่วมกันจะปลูกฝังความกลมเกลียวอย่างเป็นธรรมชาติ



“เรื่องความกลมเกลียวไม่มีคำว่าว่าสายเกินไป เด็กเล็กๆ มองพ่อแม่เป็นต้นแบบ ทุกๆ การกระทำของ พ่อแม่คือต้นแบบในการซึมซับ ถ้าพ่อแม่เป็นต้นแบบในทางที่ดี เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้ หล่อหลอมกลายเป็นตัวตน ลักษณะนิสัยของเขาต่อไปในอนาคต ถ้าเป็นพ่อแม่สิ่งสำคัญก็คือ ต้องพยายามทำตัวเป็นตัวอย่างและเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูก ในครอบครัวเมื่อหากิจกรรมให้พี่กับน้องได้ทำร่วมกัน พอเค้าได้ใช้เวลาร่วมกันก็จะเกิดความเกลียวขึ้นเอง เช่น พี่ยอมโอนอ่อนเพราะเห็นว่าน้องเล็กอยู่ ในขณะที่น้องก็อยากช่วยพี่เพราะเป็นห่วง ทำให้เกิดความผูกพันขึ้นโดยธรรมชาติ”



คุณเกวลิน ชุ่มช่างทอง บรรณาธิการและนักเขียนสำนักพิมพ์คิดบวก กล่าวว่า ความกลมเกลียวเริ่มตั้งแต่ในครอบครัว และให้เด็กรู้ชัดว่าเป้าหมายของความกลมเกลียวคือสิ่งที่ดีงาม สร้างสรรค์



“ขนาดเรื่องยากทุกเรื่องในโลก ก็ยังมีวิธีบอกเล่ากับเด็กได้ผ่านนิทาน ความกลมเกลียวเป็นเรื่องพื้นฐานจึงควรปลูกฝังแม้เด็กยังไม่ต้องก้าวเท้าออกจากบ้านด้วยซ้ำ เพราะในครอบครัวมีคุณพ่อคุณแม่ พี่น้อง ที่มีความชอบ ลักษณะนิสัย บุคลิกต่างกัน เด็กจึงต้องเรียนรู้ว่าเราจะอยู่อย่างไรให้เป็นครอบครัว ที่หมายถึงก้อนหนึ่งที่กลมอยู่ด้วยกัน และความกลมเกลียวต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล ความดีงาม ความถูกต้อง ทุกครั้งที่มีกิจกรรมใดๆ ก็ตามเป้าหมายของกิจกรรมต้องให้เด็กรู้ว่าเป็นเรื่องสร้างสรรค์ ไปในทิศทางที่บวกและเป็นเรื่องที่ดี”

จากนั้นได้จึงมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมฟังเสวนา พร้อมกันนี้ อาจารย์ปรีดาปัญญาจันทร์ ได้ให้ความรู้เรื่อง การเล่านิทานแบบไม่ปนการแสดงแต่เข้าถึงจิตใจเด็ก เพื่อเป็นแนวทางให้กับน้องๆ นักศึกษา สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ได้นำไปปรับใช้


ปิดท้ายด้วยกิจกรรมชวนทำศิลปะ “กลมเกลียวกันไว้ ตัดอย่างไรก็ไม่ขาด” เป็นการตัดกระดาษตัวละครจากนิทานให้จับมือต่อกัน ซึ่งมีน้องๆ นักศึกษา สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ให้ความสนใจฝึกทำเป็นแนวทางสำหรับการทำสื่อประกอบการสอนเด็ก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเด็กเรื่องความกลมเกลียว ตั้งแต่กระบวนการไปจนถึงเนื้อหาของงานศิลปะที่ได้ทำ



จบงานเสวนาเปิดตัวชุดนิทานกลมเกลียว ที่เน้นย้ำประเด็นเรื่องการปลูกฝังความกลมเกลียวให้กับเด็กวัยอนุบาล สอดคล้องกับนิทานทั้ง 3 เล่มในชุดคือ รักลูกใหญ่ของลูกไก่ตัวเล็ก แมวอ้วนกับแมวผอม และหมีกลมเกลียว ที่ใช้ความกลมของตัวละครเป็นสัญลักษณ์นำไปสู่เรื่องความกลมเกลียว ผ่านรูปแบบการอยู่ร่วมกันจากจุดเล็กๆ ไปสู่วงกว้าง คือเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว มิตรภาพระหว่างเพื่อน และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม โดยมีความกลมเกลียวในความความต่างบนพื้นฐานของเหตุผลเป็นแกนเชื่อมร้อยทุกความสัมพันธ์









ดู 87 ครั้ง2 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

2 Comments


kewalin05
Dec 17, 2022

❤️❤️❤️

Like

Nutthaphol Chaiwat
Nutthaphol Chaiwat
Dec 17, 2022

😀

Like
bottom of page