อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ นักวาดภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็กที่มีชื่อเสียง และ ผศ. ดร.เกสรี ลัดเลีย นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้ร่วมพูดคุย เล่าถึงที่มาที่ไป เบื้องหลังการทำงานร่วมกันในฐานะผู้วาดและผู้แต่ง โดยมี ดร.ขัตติยดา ไชยโย บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์คิดบวก เป็นผู้ดำเนินรายการ ในงานเปิดตัวนิทานภาพชุดเด็กเล ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 52 เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2567 เปิดงานด้วยการแสดงจินตลีลาประกอบเพลงปราฮูกอและ (เรือกอและ) ของเด็กๆ โรงเรียนบ้านวังทองวัฒนา โดยมีอาจารย์และน้องๆ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
ผศ. ดร.เกสรี เล่าถึงจุดเริ่มต้น ในการชักชวนอาจารย์ปรีดามาทำงานชุดนิทานเด็กเลร่วมกันว่า
“เมื่อครั้งที่ลงพื้นที่ทำงานบ้านบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ช่วงสายๆ เห็นเรือกอและที่ออกไปหาปลา วิ่งกลับเข้าฝั่ง แล่นมาเป็นสายลอดใต้สะพาน แล้วมาจอดในลำคลองที่อยู่ใกล้ๆ ภาพนั้นเป็นภาพที่สวยงามมีชีวิตชีวามาก แสดงให้เห็นถึงชีวิตของคนทำมาหากิน ที่ยังคงไว้ซึ่งความสวยงามของวัฒนธรรม”
ด้วยความตื่นเต้นและประทับใจ จึงรีบปรึกษาอาจารย์ปรีดา คิดทำนิทานขึ้นมาสักชุด ซึ่ง ผศ. ดร.เกสรี และอาจารย์ปรีดา ได้ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและคุณครูปฐมวัยผ่านหนังสือ ร่วมกันมานานเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว
อาจารย์ปรีดาเล่าถึงช่วงเวลาที่ได้ลงพื้นที่บ้านบางตาวา ว่า
“...เมื่อได้เห็นเรือกอและของจริง ลวดลายแต่ละลำไม่เหมือนกันเลย ในมุมมองของงานศิลปะ น่าสนุกมาก คิดได้เรื่อยๆ ไม่ซ้ำ แล้วการจ้างวาด ผู้จ้างก็จะบอกเลยว่าอยากได้อะไร ลายนั้นมาอย่างไร สัตว์ตัวนี้มาอย่างไร นำโชคอย่างไร มันจึงมีชีวิตชีวาน่าสนุก จะเห็นว่าเค้าสร้างสรรค์มาก ลวดลายเหล่านั้นวาดด้วยความตั้งใจ และค่าวาดลวดลายก็ไม่ได้ถูกเลย ซึ่งวิถีที่ลึกไปกว่านั้น คือความภูมิใจของคนในท้องถิ่น ที่จะนำเสนอสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนออกมาให้เห็น และก็เอามาใช้...”
ขณะที่ลงพื้นที่ ผศ. ดร.เกสรี ได้เจอกับช่างต่อเรือ และรู้ว่าช่างสืบทอดวิชาการต่อเรือมาจากพ่อ และช่างเองก็มีลูกชายอยู่ชั้นประถม ซึ่งคอยคลุกคลีอยู่ใกล้พ่อและเป็นลูกมือให้พ่อตลอดเวลา จึงเป็นที่มาของเรื่องราวในเล่ม ช่างวาดของปู่ ช่างวาดกอและ ที่เชื่อมโยงคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ไว้ด้วยวัฒนธรรม
อาจารย์ปรีดาเล่าเสริมว่า ในเล่มนี้มีสิ่งที่แอบคุยกับเด็กๆ ผ่านภาพประกอบ โดยอาจารย์ได้ซ่อนเรื่องราวของแมวตัวหนึ่งไว้ รอให้เด็กๆ ติดตามว่าเป็นแมวของใคร แล้วมันทำอะไรอยู่หน้าไหนบ้าง ลองไปดูกัน
เมื่อได้นิทานหนึ่งเล่มแล้ว ผศ. ดร.เกสรี ยังคิดต่อว่า น่าจะมีเรื่องเรือกอและสำหรับเด็กเล็กๆ อีกสักเล่ม จึงเกิดเป็นนิทานเรื่อง กอและลำเล็ก กอและลำใหญ่ ที่เล่าด้วยภาษาสั้น ง่าย สนุกปาก เริ่มจากแนวคิดน่ารักๆ ว่า “มีอะไรมากับเรือ” โดยเรื่องนี้เน้นไปที่สัตว์น้ำชนิดเดียวคือ ปลา ซึ่งมาจากเรื่องจริงที่ว่า ปลากุเลาราคาแพง มาจากการทำประมงด้วยเรือกอและ สื่อถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแต่สามารถสร้างมูลค่า เลี้ยงปากท้องคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
สำหรับการทำงานภาพประกอบในนิทานชุดนี้ อาจารย์ปรีดาเล่าว่า
“...เล่มนี้เพลิดเพลินกับการเขียนลวดลายบนเรือมาก เป็นลวดลายที่สามารถสร้างสรรค์ประดิษฐ์ขึ้นได้เรื่อยๆ ทำให้สนุกเพราะไม่มีกรอบมาครอบไว้ แต่จะต้องวาดให้สวยและมีสีสัน ถ้าสังเกตดีๆ ลายเรือกอและจะตัดเส้นด้วยสีขาวซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับบาติก ฉากที่เป็นเรือลำใหญ่ๆ วางเรียงกัน ตรงนี้วาดเพลินมาก นอกจากลายบนเรือ ก็ยังมีหมู่บ้านชาวประมง ตอนอาจารย์เกสรีพาไปชม ได้เห็นอาชีพของแม่บ้าน คือรับปลาจากพ่อบ้านที่ออกหาปลา แล้วนำมาตาก ซึ่งตอนที่เห็น จินตนาการไว้เลยว่ามันต้องคึกคัก ต้องสวยด้วยความเป็นบ้านชาวประมงที่ตัดกับสีสันของเรือและสีน้ำทะเล”
นิทานชุดนี้ แม้จะเป็นเรื่องเล่าเฉพาะท้องถิ่น แต่ ผศ. ดร.เกสรี กล่าวถึงการเชื่อมโยงวิถีชีวิตเด็กเลกับเด็กๆ ในท้องถิ่นอื่นว่า
“...การเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าในวิถีชีวิตของเราเองผ่านนิทานกอและทั้งสองเล่ม จะเชื่อมโยงไปยังเรื่องของทุนวัฒนธรรม ที่ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล เด็กดอย หรือเด็กจากลุ่มแม่น้ำ ทุกคนต่างก็มีวัฒนธรรมของตนเอง สามารถใช้ในการแลกเปลี่ยน เห็นคุณค่าซึ่งกันและกันได้”
ช่วงท้าย ผู้เข้าร่วมงานได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับวิทยากร เกี่ยวกับศิลปะของเรือกอและ และความสวยงามของธรรมชาติทางภาคใต้ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง ในโอกาสนี้ Mr. Koh Siew Shern ผู้บริหาร บริษัท เพอลังอิ พับลิชชิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนมอบของที่ระลึก ให้กับอาจารย์ปรีดา และผศ. ดร.เกสรี พร้อมถ่ายรูปร่วมกัน
นิทานชุดเด็กเล กอและลำเล็ก กอและลำใหญ่ และ ช่างวาดของปู่ ช่างวาดกอและ ทั้งสองเล่ม มีเรือกอและเป็นสัญลักษณ์ของทุนวัฒนธรรม ซึ่งเป็นต้นทุนที่ประเมินค่าเป็นราคาเงินไม่ได้ เพราะเป็นต้นทุนที่เกิดจากความรู้ภูมิปัญญาของผู้คน สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นสรรสร้างเป็นเครื่องมือทำกิน ถูกบอกเล่าผ่านนิทานให้เด็กๆ ค่อยๆ ซึมซับ เรื่องการมองเห็นคุณค่าวัฒนธรรมตน และให้เกียรติวัฒนธรรมที่แตกต่าง อันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม
Comments